การระเบิด

การระเบิดของภูเขาไฟ 

               การระเบิดของภูเขาไฟ ภูเขาไฟระเบิด เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ของเปลือกโลก การระเบิดของภูเขาไฟเกิดจากการปะทุของแมกมา แก๊ส และเถ้าจากใต้เปลือกโลก เมื่อเกิดการระเบิด แมกมา เศษหิน ฝุ่นละออง และเถ้าถ่านของภูเขาไฟจะพ่นออกมาทางปล่องของภูเขาไฟ หรือออกมาทางช่องด้านข้างของภูเขาไฟ หรือจากรอยแตกแยกของภูเขาไฟ
รูปแสดงโครงสร้างของภูเขาไฟ
            แมกมาที่ขึ้นมาสู่ผิวโลกเรียกว่า ลาวา ลาวาที่ออกมาสู่พื้นผิวโลกจะมีอุณหภูมิสูงถึง 1,200 องศาเซลเซียส ลาวาเป็นของเหลวหนืด จึงไหลไปตามความลาดเอียงของพื้นที่ ในขณะเดียวกันถ้าลาวาที่ออกมานั้นมีไอน้ำและแก๊สเป็นองค์ประกอบ แก๊สที่ออกมากับลาวาจะล่องลอยออกไปเป็นฟองอากาศแทรกตัวอยู่ในเนื้อลาวา เมื่อลาวาเย็นลงจะแข็งตัวกลายเป็นหินที่มีรูอากาศเป็นช่องอยู่ภายในเรียกว่า หินบะซอลต์ ถ้าลาวาไหลเป็นปริมาณมากและหนา ผิวหน้าเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วในขณะที่ด้านล่างยังร้อนอยู่ จะเกิดแรงดึงบนผิว ทำให้แตกออกเป็นแท่งจากบนไปล่าง เรียกว่า หินแท่งบะซอลต์ หรือเสาหินบะซอลต์
รูปแสดงหินแท่งบะซอลต์หรือเสาหินบะซอลต์
            ส่วนลาวาที่มีปริมาณของธาตุซิลิคอนมากจะเหนียวหนืด เมื่อระเบิดจะไหลหรือคุพ่นขึ้นมากองอยู่รอบๆ ปล่องภูเขาไฟเป็นรูปโดม เมื่อเย็นตัวลงจะแข็งตัวกลายเป็นหินแอนดีไซต์ หินไรโอไลต์ หรือหินออบซิเดียน การระเบิดของภูเขาไฟนอกจากจะเกิดจากการปะทุของแมกมา แก๊ส และเถ้าจากใต้เปลือกโลกแล้ว ยังอาจเกิดจากการระเบิดของแมกมาหรือหินหนืดที่มีแก๊สอยู่ด้วย เมื่อแมกมาเคลื่อนขึ้นมาใกล้ผิวโลกตามช่องเปิด แก๊สต่างๆ ที่ละลายอยู่ในแมกมาจะแยกตัวออกเป็นฟองลอยขึ้นด้านบนของแมกมา เมื่อฟองแก๊สเพิ่มจำนวนมากขึ้นจะเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความหนืดของแมกมาตรงที่เกิดฟองเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดการแตกร้าวของฟองแก๊ส แก๊สที่ขยายตัวจึงเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง พ่นชิ้นส่วนของภูเขาไฟออกมา ซึ่งส่วนมากเป็นเศษหิน ผลึกแร่ เถ้าภูเขาไฟ และฝุ่นภูเขาไฟ ชิ้นส่วนเหล่านี้จะปลิวฟุ้งไปในอากาศ ตกลงมาสะสมตัวบนผิวโลกทั้งในน้ำและบนบก ส่วนชิ้นส่วนภูเขาไฟที่มีไอน้ำและแก๊สประกอบอยู่ภายในที่มีอุณหภูมิและความ ดันสูง จะเกิดการขยายตัวไหลพุ่งออกมาจากช่องที่เปิดอยู่สู่ผิวโลก ไหลไปตามความลาดชันของพื้นที่ไปสะสมตัวเช่นกัน ชิ้นส่วนภูเขาไฟเหล่านี้เมื่อเย็นตัวลงจะแข็งเป็นหินเรียกว่า หินตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic rock) หินตะกอนภูเขาไฟมีหลายชนิด แบ่งตามขนาดและลักษณะของชิ้นส่วนที่พ่นออกมา ดังนี้

                        1) หินทัฟฟ์ (tuff) เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากชิ้นส่วนภูเขาไฟขนาด 0.0622 มิลลิเมตร
                        2) หินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟ (volcanic breccia) เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากชิ้นส่วนภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่กว่า 64 มิลลิเมตร มีลักษณะเป็นเหลี่ยม (block)
                        3) หินกรวดมนภูเขาไฟ (agglomerate) เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากชิ้นส่วนภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่กว่า 64 มิลลิเมตร แต่มีลักษณะรูปร่างกลมมน (bomb) เพราะเกิดการเย็นตัวอย่างรวดเร็วในอากาศ
หินบางชนิด เช่น หินแก้ว (silicate glass) เป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวและแข็งตัวอย่างรวดเร็วของแมกมา กลายเป็นก้อนแก้วที่มีรูพรุน เต็มไปด้วยฟองอากาศที่ยังไม่แตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ถ้าเกิดแรงระเบิดทำให้แตกออก จะกลายเป็นเศษหินที่มีรูพรุนมากมีลักษณะคล้ายรังผึ้ง น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ เรียกว่า หินพัมมิซ (pumice)
                        หินที่เกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดหรือแมกมา ซึ่งแทรกขึ้นมาจากส่วนลึกภายในโลกเรียกว่า หินอัคนี (igneous rock) แบ่งออกเป็น หินอัคนีแทรกซอน เกิดจากการเย็นตัวอย่างช้าๆ ของแมกมาที่แทรกดันตัวขึ้นมาสู่เปลือกโลก ได้แก่ หินแกรนิต หินไดโอไรต์ หินแกรบโบ เป็นต้น และหินอัคนีพุ หรือหินภูเขาไฟที่แข็งตัวหลังจากที่แมกมาปะทุออกมานอกผิวโลก ได้แก่ หินไรโอไลต์ หินบะซอลต์ และหินแอนดีไซต์ เป็นต้น หินภูเขาไฟแต่ละชนิดจะมีลักษณะและรูปร่างแตกต่างกันดังตาราง
ตารางแสดงลักษณะและรูปร่างของหินภูเขาไฟบางชนิด
หินภูเขาไฟ
ลักษณะและรูปร่างของเนื้อหิน
ไรโอไลต์
เนื้อละเอียดมาก อาจมีเนื้อดอก สีอ่อน ขาว ชมพู เทา
แอนดีไซต์ 
เนื้อละเอียด แน่นทึบ สีเทาแก่ เขียว ดำเข้ม
บะซอลต์ 
เนื้อแน่น ละเอียด มักมีรูพรุน สีเข้มดำ
ทัฟฟ์ 
เนื้อหินแน่น ประกอบด้วยเศษหินละเอียดต่างๆ สีอ่อน
ออบซิเดียน
เนื้อแก้ว ไม่มีรูปผลึก สีเข้ม
พัมมิซ
เนื้อมีรูพรุน เบา ลอยน้ำได้ สีอ่อน
สคอเรีย
เนื้อมีรูพรุน เบา ลอยน้ำได้ สีเข้ม

            หินไรโอไลต์และหินแอนดีไซต์ เป็นหินที่เย็นและแข็งตัวมาจากลาวาที่มีความหนืดสูงหลายหลาก มาจากปล่องภูเขาไฟที่ระเบิดไม่รุนแรง พบรอบปล่องภูเขาไฟรูปโดม เป็นหินที่เย็นตัวอย่างช้าๆ จึงมีเนื้อแน่น ละเอียด มีดอกและสีต่างๆ
            หินบะซอลต์ เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากการระเบิดแล้วไหลออกมาแข็งตัวภายนอก หินบะซอลเกิดจากการ เย็นตัวและแข็งตัวของลาวาที่มีไอน้ำหรือแก๊สปนอยู่ จึงมีเนื้อแน่นละเอียดและมีรูพรุน
            หินทัฟฟ์ เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากการแข็งตัวของเศษหินต่างๆ ที่พ่นขึ้นมาจากปล่องภูเขาไฟ เนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟอย่างรุนแรง จึงมีเนื้อแน่น ประกอบด้วยเศษหินละเอียดต่างๆ
            หินออบซิเดียน เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากการเย็นตัวและแข็งตัวอย่างรวดเร็วของแมกมา จึงมีลักษณะเป็นเนื้อแก้ว ไม่มีรูปผลึก
            หินพัมมิซและหินสคอเรีย เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดจากการเย็นตัวและแข็งตัวอย่างรวดเร็วของแมกมากลายเป็น ก้อนแก้วที่มีฟองอากาศเป็นรูพรุนอยู่ภายใน แรงระเบิดทำให้แตกออก จึงเป็นเศษหินที่มีรูพรุน คล้ายรังผึ้ง น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ สิ่งที่ต่างกันระหว่างหินพัมมิซและหินสคอเรีย คือ หินพัมมิซมีสีอ่อน ส่วนหินสคอเรียมีสีเข้ม

อ้างอิง : http://www.maceducation.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น