ภูเขาไฟในไทย

ภูเขาไฟในประเทศไทย
               ภูเขาไฟในประเทศไทย ประเทศไทยไม่เคยมีปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่มีการพบร่องรอยของภูเขาไฟในประเทศไทย เมื่อพิจารณาที่ตั้งของประเทศไทย พบว่าอยู่นอกเขตการมุดตัวของแผ่นธรณีภาค จึงสรุปได้ว่าประเทศไทยไม่มีภูเขาไฟที่มีพลังที่จะเกิดการระเบิดขึ้นอีก
               จากการสำรวจทางธรณีวิทยาพบว่า ประเทศไทยเคยมีการระเบิดของภูเขาไฟมาก่อน โดยมีหลักฐานจากหินภูเขาไฟหลากหลายชนิดที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในหลาย จังหวัด เช่น ลพบุรี กาญจนบุรี ตราด สระบุรี ลำปาง สุรินทร์ ศรีสะเกษ เป็นต้น หลักฐานดังกล่าวนี้แสดงว่าครั้งหนึ่งเคยมีภูเขาไฟในประเทศไทย คาดว่าการระเบิดช่วงสุดท้ายของภูเขาไฟในประเทศไทยแล้วเกิดการเย็นตัวให้หิน บะซอลต์ที่มีอายุตั้งแต่ 1.8 ล้านปี ถึง 10,000 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภูเขาไฟส่วนใหญ่ที่สำรวจพบในประเทศไทยเกิดขึ้นมานาน ถูกกระบวนการกัดกร่อนผุพังทำลายไป จึงไม่สามารถเห็นรูปร่างของภูเขาไฟอย่างชัดเจน
               ภูเขาไฟที่สำรวจพบในประเทศไทยที่มีรูปร่างชัดเจนมากที่สุด (มองเห็นเพียงด้านเดียว) ได้แก่ ภูเขาไฟ ดอยผาคอกหินฟู จังหวัดลำปาง ภูพระอังคาร และภูเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะมีปากปล่องเหลือให้เห็นเป็นร่องรอย หินภูเขาไฟในประเทศไทยนอกจากจะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น หินบะซอลต์ที่จังหวัดจันทบุรี ตราด กาญจนบุรี เป็นแหล่งของอัญมณีที่สำคัญ หินไรโอไลต์ที่เขาปางค่า จังหวัดลำปาง มีส่วนประกอบของแร่เฟลด์สปาร์ ที่เปลี่ยนสภาพให้แร่ดินขาว ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเซรามิกแล้ว ภูเขาไฟและหินภูเขาไฟบางแห่งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น บ้านน้ำเดือด เขาหินเหล็กไฟ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ วัดเก่าแสนตุ่ม ตำบลประณีต อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด พบแท่งเสาหินบะซอลต์ยาวมีหน้าตัดเป็นรูปห้าเหลี่ยมและหกเหลี่ยม ที่ชาวบ้านเรียกว่า เสาหินโบราณ ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วบนผิวของลาวาในขณะที่ส่วนล่างยังร้อนอยู่ ทำให้เกิดแรงดึง แล้วแตกออกเป็นแท่งจากบนลงล่าง มีลักษณะคล้ายแท่งเสา 

อ้างอิง : http://www.maceducation.com/

1 ความคิดเห็น:

  1. ยังมีป่องภูเขาไฟตามแนวเขามากมายยังชัดเจนและมีร่องรอยลาวาอีกด้วย

    ตอบลบ